ปัจจัยในการพิจารณาปล่อยสินเชื่อของธนาคาร
ในการพิจารณาปล่อยสินเชื่อนั้น นักวิเคราะห์สินเชื่อจะคำนึงถึงปัจจัยที่เรียกว่า 5 C’s ซึ่งประกอบด้วย
- Character คือ ลักษณะผู้กู้ เป็นการวิเคราะห์ถึงลักษณะของผู้กู้เอง กรณีการปล่อยกู้สินเชื่อส่วนบุคคล ก็จะมีการพิจารณาถึง อายุ อาชีพ หน้าที่การงาน ความสม่ำเสมอของรายได้ ประวัติการจ่ายชำระหนี้จากเครดิตบูโร เป็นต้น สำหรับกรณีสินเชื่อธุรกิจ ก็จะมีการพิจารณาว่าใครเป็นเจ้าของ และเจ้าของกิจการนั้นจบการศึกษาที่เกี่ยวข้อง หรือมีประสบการณ์ในธุรกิจที่มาขอกู้เพียงใด ทำธุรกิจมาแล้วกี่ปี มีประวัติการติดต่อกับธนาคารมาก่อนหรือไม่ ประวัติทางการเงินของเจ้าของเองเป็นอย่างไร เป็นต้น
- Capacity คือ ความสามารถในการชำระหนี้ การวิเคราะห์ว่าผู้กู้จะจ่ายเงินได้หรือไม่ ถ้าเป็นสินเชื่อส่วนบุคคลก็จะดูว่าผู้กู้มีรายได้เท่าใด มีภาระหนี้สินที่มีอยู่ในปัจจุบันมากน้อยเพียงใด เช่น มีหนี้สำหรับกู้ซื้อบ้าน ซื้อรถ สินเชื่อบัตรเครดิตเท่าใด และจะเหลือเงินรายได้ที่จะสามารถมาชำระหนี้ได้เป็นเท่าใด ถ้าเป็นสินเชื่อธุรกิจ เจ้าหน้าที่วิเคราะห์สินเชื่อต้องมีการวิเคราะห์จากงบการเงินของกิจการ โอกาสการเติบโตของธุรกิจ ลักษณะธุรกิจ อนาคตในการสร้างรายได้ และกำไรสุทธิว่ามีเพียงพอที่จะจ่ายดอกเบี้ยและเงินต้นให้ธนาคารหรือไม่ โดยปกติธนาคารจะวิเคราะห์ความสามารถในการชำระหนี้จากอัตราส่วนทางการเงิน Interest Coverage Ratio (ICR) และ Debt Service Coverage Ratio (DSCR)
- Capital คือ เงินทุน ถ้าเป็นสินเชื่อบุคคลก็จะมองว่าผู้กู้มีเงินมาดาวน์บ้าน ดาวน์รถ มากน้อยเพียงใด และเหลือจำนวนเงินที่ต้องกู้จากธนาคารเท่าใด แต่หากเป็นสินเชื่อธุรกิจ จะพิจารณาในส่วนทุน หรือส่วนของผู้ถือหุ้น โดยอาจพิจารณาเปรียบเทียบจากอัตราส่วนทางการเงิน Debt to Equity Ratio (D/E Ratio)
- Collateral คือ หลักประกัน การเรียกหลักประกันในการปล่อยสินเชื่อ ถือเป็นการลดความเสี่ยงในการปล่อยกู้ของธนาคารหากเกิดหนี้เสีย อย่างน้อยเงินกู้ที่ธนาคารปล่อยกู้ไป ธนาคารก็ไม่ได้สูญเสียเงินทั้งหมด แต่ยังมีหลักทรัพย์ค้ำประกันเพื่อเป็นการชดเชยหากเกิดหนี้เสีย สำหรับสินเชื่อบุคคล ก็จะมีการนำบ้าน หรือรถ มาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน แต่สำหรับสินเชื่อธุรกิจหลักทรัพย์ค้ำประกันก็จะแตกต่างกันไป เช่น ที่ดิน อาคารโรงงาน เครื่องจักร หรือแม้แต่การค้ำประกันโดยเจ้าของธุรกิจ
- Conditions คือ การกำหนดเงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อ ในการปล่อยสินเชื่อ โดยเฉพาะสินเชื่อธุรกิจ ธนาคารอาจมีการกำหนดเงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อ เช่น กำหนดควบคุมระดับหนี้สินของกิจการที่ปล่อยกู้ เพื่อไม่ให้กิจการนั้นไปกู้เพิ่มเติมจากธนาคารอื่น โดยกำหนดค่า D/E Ratio เพื่อเป็นการกำหนดระดับหนี้สินที่กิจการจะกู้ได้ หรือเงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อที่ห้ามให้กิจการจ่ายเงินปันผล จนกว่าจะชำระเงินต้นให้ธนาคารหมด เป็นต้น
ปัจจัยอีกประการในการวิเคราะห์สินเชื่อคือ 3 P’s ได้แก่ People Payment และ Protection แบ่งได้เป็น
People ได้แก่การวิเคราะห์ Character หรือตัวผู้กู้เอง ซึ่งเป็นข้อมูลพื้นฐาน จนถึงขั้นซับซ้อน เช่นคิดง่าย ๆ ว่าสมมติว่ามีคนจะมาขอกู้เงินเราก็ควรรู้จักเขาว่า เขาเป็นใคร ชื่อ นามสกุล อะไร อายุเท่าไหร่ (จะตายก่อนใช้หนี้หมดไหม) ทำอาชีพอะไร มีรายได้สม่ำเสมอหรือเปล่า เป็นพนักงานเงินเดือน หรือเป็นลูกจ้างรายวัน นิสัยใจคอเป็นอย่างไร ยืมเงินคนอื่นแล้วเขาใช้หนี้ครบถ้วนหรือไม่ เป็นต้น
ธนาคารจะใช้วิธีดู Character ผู้กู้ จากประวัติของผู้กู้ตามข้อมูลที่ให้มา เช่น
ถ้าเป็นบุคคล เอกสารที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ใบขออนุมัติสินเชื่อ บัตรประชาชน ใบรับรองการทำงาน หนังสือรับรองเงินเดือน เป็นต้น
ถ้าเป็นนิติบุคคล จะดูจากเอกสารการจดทะเบียนนิติบุคคล ใบจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หนังสือรับรองบริษัท ใบขออนุมัติกู้เงิน ซึ่งจะระบุรายละเอียดว่า ทำธุรกิจอะไร ต้องการกู้เงินไปใช้ทำอะไร เคยมีเงินกู้กับธนาคาาอื่นไหม
นอกจากเอกสารอ้างอิงดังกล่าวแล้ว ธนาคารยังมีเครื่องมือการวิเคราะห์พฤติกรรมการชำระหนี้ของบุคคลที่สำคัญประการหนึ่ง นั่นคือ เครดิตบูโร
เครดิตบูโร จะเป็นข้อมูลประวัติการชำระหนี้ย้อนหลัง ว่าผู้กู้เคยมีวงเงินสินเชื่อกับที่ใดบ้าง (ต้องเป็นหนี้ในระบบ) การอ่านรายงานเครดิตบูโร จะเป็นข้อมูลสะท้อนว่าลักษณะของผู้กู้มีนิสัยชำระเงินอย่างไร มีการชำระหนี้ล่าช้าหรือไม่ เป็นต้น
Payment เป็นการวิเคราะห์ถึง capacity ได้แก่ความสามารถในการชำระหนี้ และ capital เงินทุน การพิจารณาถึง 2 สิ่งนี้ ถ้าเป็นบุคคล ส่วนใหญ่จะดูถึงอาชีพ และรายได้ เพื่อบ่งบอกถึงความสามารถในการชำระหนี่ และพิจารณาถึงเงินเก็บหรือเงินฝากที่มีอยู่ ซึ่งอาจจะสืบอยากสักหน่อยเนื่องจากผู้กู้อาจจะไม่ได้มีเงินฝากอยู่ในธนาคารแห่งเดียว แต่ข้อมูลที่ผู้กู้ให้จากใบคำขอสินเชื่อก็ถือว่าเป็นแหล่งข้อมูลอย่างดี
สำหรับนิติบุคคล ส่วนใหญ่แล้วธนาคารจะพิจารณาจากงบการเงินย้อนหลัง หากเป็น SME จะขอ statement เงินฝากธนาคารเพื่อดูเงินเข้าออก เนื่องจากงบการเงินของ SME ธนาคารจะถือว่าเป็น base รายได้ที่กิจการได้รับ โดยต้องพิจารณา เงินรับ จ่าย จาก statement อีกด้วย สำหรับ capital หรือเงินทุนของกิจการดูได้จากส่วนของผู้ถือหุ้นในงบการเงิน หรือดูสัดส่วน Debt to Equity (D/E) ratio ซึ่งเป็นส่วนการใช้หนี้สิน ต่อส่วนทุนของธุกิจ ซึ่งถ้าสัดส่วน D/E ก่อนที่จะมาขอกู้ มีอัตราส่วยสูงอยู่แล้ว ก็ถือดป็นความเสี่ยงในการพิจารณาให้สินเชื่อต่อไป
Protection ได้แก่ การพิจารณา collateral คือหลักประกันการกู้ และ Condition คือการกำหนดเงื่อนไขการปล่อยกู้ต่าง ๆ สำหรับ Collateral หรือหลักประกันนั้น ไม่ว่าจะเป็นอสังหาริมทรัพย์ เช่นกู้สินเชื่อเพื่อซื้อบ้านและที่ดิน ก็นำบ้านและที่ดินที่ซื้อมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ซื้อรถยนต์ก็ใช้รถยนต์เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน เป็นต้น นอกจากการใช้หลักทรัพย์มาเป็นหลักประกันการกู้แล้ว ก็ยังมีการค้ำประกันโดยใช้บุคคล หรือการให้บสย.เป็นผู้ค้ำประกัน
สำหรับ Condition นั้นถือเป็นการป้องกันความเสียงการปล่อยสินเชื่อ โดยธนาคารอาจกำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ ให้ผู้กู้ต้องปฏิบัติตามเพื่อลดความเสี่ยง เช่น เมื่อขอกู้สินเชื่อเพื่อซื้อบ้านและที่ดิน โดยกำหนดให้นำบ้านและที่ดินนั้นเป็นหลักประกันการกู้ ธนาคารอาจกำหนดเงื่อนไขให้ผู้กู้ทำประกันอัคคีภัยสำหรับตัวบ้าน เพื่อป้องกันหากเกิดหนี้เสีย ธนาคารจะยึดหลักประกันได้แก่บ้านพร้อมที่ดิน แต่หากบ้านเกิดอัคคีภัยเสียแล้ว เงินที่ธนาคารได้รับจากการจำหน่ายหลักประกันในการปล่อยสินเชื่อซึ่งก็จะไม่คุ้มวงเงิน เป็นต้น