งบกระแสเงินสดและประเภทของกิจกรรมทางธุรกิจในงบกระแสเงินสด
งบการเงิน (Financial Statements) เป็นรายงานทางการเงินที่จัดทำขึ้นโดยใช้ข้อมูลการดำเนินงานทางการเงินของธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ที่กิจการได้บันทึกไว้ในรอบระยะเวลาบัญชีหนึ่ง ๆ ซึ่งจะแสดงถึงผลการดำเนินการ ฐานะการเงินตลอดจนการเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวข้องกับการเงินของกิจการที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ
งบการเงินมีประโยชน์ต่อผู้ใช้หลายกลุ่ม โดยเฉพาะการนำไปใช้ในการตัดสินใจเชิงเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของกิจการ ผู้บริหาร เจ้าหนี้ นักลงทุน หรือหน่วยงานราชการ
งบการเงินที่สำคัญ ประกอบด้วย
- งบแสดงฐานะการเงิน (Balance Sheet)
- งบกำ ไรขาดทุน (Income Statement)
- งบกำ ไรสะสม(Retained Earnings Statement)
- งบกระแสเงินสด (Statement of Cash Flow)
งบกระแสเงินสด เป็นงบการเงินที่มุ่งเน้นแสดงให้เห็นรายการที่เกิดขึ้นที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับเงินสด หรือรายการที่เทียบเท่าเงินสด เช่น เงินฝากธนาคาร ซึ่งมีสภาพคล่องสูงเท่ากับเงินสด โดยแสดงให้ผู้ใช้งบการเงินเห็นการเปลี่ยนแปลงเงินสดของกิจการ ว่ามีการได้มาและใช้ไปในแต่ละงวดมากน้อยเพียงใด โดยแบ่งตามกิจกรรมของธุรกิจ เป็น กิจกรรมดำเนินงาน กิจกรรมลงทุน และกิจกรรมจัดหาเงิน
งบกระแสเงินสดถือเป็นแหล่งข้อมูลที่สำคัญที่แสดงให้เห็นถึงนโยบายเกี่ยวกับการบริหารจัดการเงินสดของกิจการ ตลอดจนการวางแผนการตัดสินใจทางด้านการเงินในอนาคต ดังนั้น งบกระแสเงินสดจึงเป็นงบการเงินที่สำคัญอีกงบการเงินหนึ่ง ที่ผู้ใช้งบการเงิน ควรให้ความสำคัญในการวิเคราะห์สภาพคล่องของกิจการ
ประเภทของกิจกรรมทางธุรกิจในงบกระแสเงินสด
ในงบกระแสเงินสด มีการแบ่งกิจกรรมทางธุรกิจในการแสดงการเปลี่ยนแปลงของกระแสเงินสด ออกเป็น 3 กิจกรรม คือ
1. กิจกรรมดำเนินงาน (Operating Activities) เป็นกิจกรรมหลักของกิจการที่ทำให้เกิดรายได้และค่าใช้จ่าย
มักจะเกิดจาก การเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับสินทรัพย์หมุนเวียนและหนี้สินหมุนเวียน
ตัวอย่างของรายการทางธุรกิจที่เป็นกิจกรรมดำเนินงาน ได้แก่
กิจกรรมรับเงิน เช่น รับเงินสดจากการขาย/ให้บริการ เก็บเงินสดจากลูกหนี้ได้
กิจกรรมจ่ายเงิน เช่น ใช้เงินสดเพื่อซื้อสินค้า จ่ายชำระเงินเจ้าหนี้ด้วยเงินสด จ่ายค่าสาธารณูปโภคต่าง ๆ
เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าเช่า ที่ใช้ในธุรกิจ
2. กิจกรรมลงทุน (Investing Activites) เป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการใช้เงินสด เพื่อลงทุนในสินทรัพย์ระยะยาว
และสินทรัพย์ไม่หมุนเวียน
ตัวอย่าง ของรายการทางธุรกิจที่เป็นกิจกรรมลงทุน ได้แก่
กิจกรรมรับเงิน เช่น เงินสดรับจากการขายที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ หรือสินทรัพย์ระยะยาวอื่น เช่น เงินลงทุนระยะยาว
กิจกรรมจ่ายเงิน เช่น เงินสดจ่ายเพื่อซื้อสินทรัพย์ระยะยาว เช่น ที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ หรือ ใช้เงินสดเพื่อลงทุน ในเงินลงทุนระยะยาว
3. กิจกรรมจัดหาเงิน (Financing Activities) เป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการจัดหาเงิน (Financing) ของกิจการ
ไม่ว่าจะเป็นด้านหนี้สิน หรือส่วนทุน
ตัวอย่าง ของรายการทางธุรกิจที่เป็นกิจกรรมจัดหาเงิน ได้แก่
กิจกรรมรับเงิน เช่น ได้รับเงินสดจากการกู้เงินระยะยาวจากธนาคาร การออกหุ้นกู้ การออกหุ้นสามัญออกใหม่
กิจกรรมจ่ายเงิน เช่น จ่ายชำระหนี้เงินกู้ระยะยาว จ่ายเงินปันผล การซื้อหุ้นคืน
การจัดทำงบกระแสเงินสด สามารถทำได้ 2 วิธี คือ
1. การจัดทำงบกระแสเงินสดโดยวิธีทางตรง (Direct Method) มีหลักการจัดทำว่า ให้แยกประเภทรายการที่เกี่ยวข้องกับเงินสด ว่าเป็น เงินสดรับมา หรือเงินสดใช้ไป
2. การจัดทำงบกระแสเงินสดโดยวิธีทางอ้อม (Indirect Method) เป็นวิธีจัดทำงบกระแสเงินสดโดยการตั้งต้นจากกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิก่อน หักดอกเบี้ยจ่ายและภาษีเงินได้ที่ปรากฏในงบกำไรขาดทุน ในปีนั้น แล้วปรับกระทบด้วยรายการที่ไม่เกี่ยวกับเงินสด (Non cash expenses) เช่น หนี้สงสัยจะสูญ ค่าเสื่อมราคา กำไรหรือขาดทุนจากการจำหน่ายสินทรัพย์ จากนั้นจะปรับด้วย ผลจากการเปลี่ยนแปลงในเงินทุนหมุนเวียน (Change in net working capital) ได้แก่ สินทรัพย์หมุนเวียนและหนี้สินหมุนเวียนที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมดำเนินงานของกิจการ รวมถึงการจ่ายดอกเบี้ยจ่ายและการจ่ายภาษีเงินได้ของกิจการ
ทั้งนี้ หลักการง่าย ๆ ของการวิเคราะห์การเพิ่มขึ้นของรายการในงบแสดงฐานะทางการเงิน ได้แก่
กรณีสินทรัพย์
สินทรัพย์เพิ่มขึ้น กระแสเงินสดจะลดลง ในทางกลับกัน หากสินทรัพย์ ลดลง หมายความว่ากระแสเงินสดเพิ่มขึ้น
ตัวอย่างเช่น ถ้าลูกหนี้ปีก่อน 100 บาท ปีปัจจุบัน เพิ่มเป็น 120 บาท หมายความว่า เงินสดของกิจการลดลง 20 บาท เนื่องจากแทนที่จะได้เงินสดทันทีจากการขายสินค้า แต่กิจการได้ให้เครดิตลูกหนี้ ทำให้ลูกหนี้เพิ่มขึ้น ในทางกลับกัน ถ้าลูกหนี้ในปัจจุบันลดลงเป็น 80 บาท หมายความเงินสดเพิ่มขึ้น 20 บาท เนื่องจากลูกหนี้ที่แสดงในงบแสดงฐานะการเงินลดลง หมายความว่ากิจการเก็บเงินสดจากลูกหนี้ได้
กรณีหนี้สินและส่วนทุน
กรณีหนี้สินและส่วนทุนเพิ่มขึ้น กระแสเงินสดจะเพิ่มขึ้น ในทางกลับกับ หากหนี้สินและส่วนทุนลดลง กระแสเงินสดจะลดลง
ตัวอย่างเช่น ถ้าเจ้าหนี้การค้าเพิ่มขึ้น แสดงว่ากิจการได้รับเครดิต ไม่ต้องจ่ายเงินสดออกไปก่อน หรือเงินกู้ระยะยาว หุ้นกู้ เพิ่มขึ้น แสดงว่า กิจการมีการกู้เงิน หรือออกหุ้นกู้ ทำให้เงินสดในกิจการเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับ การออกหุ้นสามัญเพิ่มทุน กิจการก็จะมีเงินสดไว้ใช้ในกิจการเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกัน
แต่ถ้าหนี้สินและส่วนทุนลดลง เช่น เจ้าหนี้การค้า เงินกู้ระยะยาว หุ้นกู้ลดลง แสดงว่า กิจการต้องนำเงินสดไปชำระหนี้ หรือ หากมีการจ่ายเงินปันผลให้ถือหุ้น ก็ทำให้กิจการมีเงินสดลดลงเช่นเดียวกัน
การวิเคราะห์งบกระแสเงินสดนี้ เป็นพื้นฐานที่สำคัญในการทำประมาณทางการเงิน (Cash flow Projection) เพื่อใช้ในการวิเคราะห์งบประมาณลงทุน เช่น การวิเคราะห์ NPV IRR ซึ่งใช้เป็นแนวทางในการตัดสินใจลงทุนของกิจการต่อไป